กรมการจัดหางาน ถก บริษัทเรือสำราญ จัดสรร ตำแหน่งงาน 1 พันกว่าอัตรา

กรมการจัดหางาน ถก บริษัทเรือสำราญ จัดสรร ตำแหน่งงาน 1 พันกว่าอัตรา

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการหารือกับ 2 บริษัทเรือสำราญ ในการจัดสรร ตำแหน่งงาน ประจำเรือสำราญจำนวน 1 พันกว่าอัตรา บริษัทเรือสำราญ ตำแหน่งงาน – วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้การต้อนรับผู้บริหารสายการเดินเรือสำราญ Princess Cruise และ Halland America Line ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเรื่องการสรรหาพนักงานสัญชาติไทยเข้าประจำการบนเรือสำราญ จำนวนมากกว่า 1,000 อัตรา

เพื่อตอบรับความต้องการการบริการเดินเรือที่กำลังจะเริ่มต้นช่วงกลางปี 2565 

นายไพโรจน์ ได้กล่าวว่า บริษัทจัดหางาน ทีเอสทีซี ไทย จำกัด ได้แจ้งต่อกรมการจัดหางานว่ามีความต้องการคนไทยไปทำงานบนเรือสำราญในตำแหน่งต่างๆ อาทิ กุ๊ก/ผู้ช่วยกุ๊ก พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ พนักงานบริการห้องพัก พนักงานต้อนรับ ช่างภาพ เวทีแสงสีเสียง เป็นต้น

โดยมีระยะเวลาการทำงานบนเรือ ครั้งละ 9 เดือน รายได้เดือนละ 30,000 – 100,000 บาทต่อเดือนตามอัตราค่าจ้างแต่ละตำแหน่ง ไม่รวมค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งนายจ้างจะออกค่าใช้จ่ายในส่วนของตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ที่พักและอาหารตลอดระยะเวลาการทำงาน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของนักศึกษาจบใหม่ ผู้มีประสบการณ์ทำงานบนเรือสำราญ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาการโรงแรม และคนหางานที่มีทักษะภาษาอังกฤษ ผู้ที่สนใจทำงานสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 02 245 6712-3

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านสุชาติ ชมกลิ่น มุ่งมั่น ผลักดันการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างยิ่ง เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้แรงงานไทยมีงาน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และนำเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจประเทศไทย” 

ด้าน Mr. Prem Kannan ผู้บริหารฮอลแลนด์ อเมริกา กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันเรือสำราญเริ่มกลับมาเดินเรือในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น เส้นทางท่องเที่ยวแถบอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง ยุโรป และสายเดินเรือในแถบเอเชีย ทำให้นักท่องเที่ยวเรือสำราญมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ คาดว่าจะเกิดการจ้างแรงงานในตลาดประเทศไทยมากถึง 2,000 คน เนื่องจากคนไทย มีอัธยาศัยที่ดี มีพื้นฐานการบริการที่สุภาพ และมีบุคลิกภาพที่ยิ้มแย้มแจ่มใส รวมถึงมีความรู้ความสามารถที่ดีอยู่ในมาตรฐานสากล

Mr. Prem Kannan กล่าวว่า “เราสามารถสอนให้พนักงานของเราเสิร์ฟอาหาร ทำอาหาร หรือเป็นบาร์เทนเดอร์ได้ แต่การสอนให้ใครยิ้มเป็นเรื่องยากกว่า คนไทยจึงเป็นที่ต้องการในงานด้านการบริการ”

รัฐบาล เดินหน้าตั้ง ‘ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล’ 4 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ

รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล แล้ว 4,978 ศูนย์ ภายในพื้นที่ 76 จังหวัด ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล – วันที่ 26 พ.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย และจัดระบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต

ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างหลักประกันทางสังคมแบบพุ่งเป้า

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลดำเนินการงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยแบบพุ่งเป้าในระดับพื้นที่ ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการวางแผนและบูรณาการการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มด้อยโอกาสให้พ้นภาวะวิกฤต เน้นการให้บริการด้านสวัสดิการสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติความเป็นอยู่ สุขภาพ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ผ่านกลไกการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ คือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะใช้สมุดพกครอบครัวเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและขับเคลื่อน

โดยในปี พ.ศ 2565 มีเป้าหมายในการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าตามโครงการฯ จำนวน 615,706 ครัวเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นางสาวรัชดา กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลแล้ว จำนวน 4,978 ศูนย์ ในพื้นที่ 76 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 68.8 ของตำบลทั่วประเทศ สามารถช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมได้ จำนวน 123,496 คน และครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 13,111 ครัวเรือน

ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการทำงานแบบองค์รวม โดยเชื่อมโยงกลไกระดับพื้นที่ เช่น ภาคประชาชร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Credit : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว | แต่งบ้านและสวน | พระเครื่อง | รีวิวกล้องถ่ายรูป